ภาวะขาดแคลนประชากรเพศหญิง ทำให้ชายชาวหมู่เกาะแฟโร ของเดนมาร์ก หันมาเฟ้นหาภรรยาจากแดนไกลกันมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศไทยและฟิลิปปินส์ นี่คือเรื่องราวการปรับตัว ของเจ้าสาวที่ต้องจากสภาพอากาศเขตร้อนไปอยู่ประเทศหมู่เกาะที่มีแต่ลมพัดแรงทั้งวัน
เมื่อตอนที่อัธยา สเลทาลิด ย้ายจากประเทศไทยไปอยู่ที่หมู่เกาะแฟโรใหม่ ๆ เธอพบว่าฤดูหนาวที่นั่นยาวนานถึง 6 เดือน ซึ่งเธอมักจะนั่งติดอยู่กับเครื่องทำความร้อนตลอดเวลา 'คนบอกให้ฉันออกไปนอกบ้าน เพราะแดดกำลังออก แต่ฉันพูดว่าไม่! ปล่อยฉันไว้คนเดียวแบบนี้ดีแล้ว ฉันหนาว'
อัธยา ยอมรับว่า ตอนย้ายมาอยู่นี่ใหม่ ๆ เมื่อ 6 ปีก่อน เธอรู้สึกลำบากมาก โดยเธอพบกับสามีที่ชื่อยาน ตอนที่เขาไปทำงานกับเพื่อนชาวแฟโรอีกคนซึ่งเปิดธุรกิจในประเทศไทย และยาน ก็ทราบดีด้วยว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทาย เมื่อพาภรรยาย้ายไปอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรม อากาศ และภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
'ผมก็กังวล เพราะทุกอย่างที่เธอจะจากมา ตรงข้ามกับทุกอย่างที่เธอจะได้เจอ แต่ผมรู้จักอัธยา และรู้ว่าเธอจะรับมือได้'
ปัจจุบัน หมู่เกาะแฟโรมีหญิงชาวไทยและฟิลิปปินส์ อาศัยอยู่กว่า 300 คน ซึ่งจากประชากร 50,000 คน ทำให้พวกเธอเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุด ของดินแดนที่มี 18 เกาะ ตั้งอยู่ระหว่างนอร์เวย์และไอซ์แลนด์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หมู่เกาะแฟโรต้องเผชิญกับปัญหาจำนวนประชากรลดลง คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย มักจะเดินทางไปเรียนที่อื่นและไม่หวนกลับมาทำงานที่บ้านเกิด โดยผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะไปสร้างครอบครัวในต่างประเทศมากกว่า ซึ่งนายกรัฐมนตรีแอ็กเซล โยฮานเนเซ่น กล่าวว่า ผลที่ตามมาคือ หมู่เกาะแฟโรต้องเผชิญกับความไม่สมดุลของประชากร ที่มีผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 2,000 คน เหล่าชายหนุ่มชายแฟโร จึงพากันมองหาความรักจากที่อื่น
แม้จะไม่ใช่ทุกคน แต่ก็มีหญิงชาวเอเชียจำนวนมากที่ได้พบรักกับสามีออนไลน์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเว็บไซต์บริการจัดหาคู่ และมีบางส่วนที่พบกันผ่านโซเชียลมีเดีย หรือเป็นเพื่อนของผู้ที่มีคู่รักเป็นชาวแฟโร
สำหรับผู้ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ อาจตกใจกับวัฒนธรรมที่แตกต่างของชาวแฟโร อย่างคาดไม่ถึง เพราะแม้จะเป็นดินแดนของเดนมาร์ก แต่ที่นี่มีภาษาของตัวเอง ซึ่งพัฒนามาจากภาษานอร์สโบราณ และพวกเขายังมีวัฒนธรรมอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ เช่นเนื้อแกะหมัก ปลาคอดตากแห้ง และจะรับประทานเนื้อวาฬ หรือไขมันวาฬ และแมวน้ำเป็นบางโอกาส รวมถึงจะไม่ใส่สมุนไพรและเครื่องเทศในอาหารแบบชาวเอเชียเลย
แม้ว่าหมู่เกาะแฟโรจะไม่ได้มีอากาศหนาวเย็นอย่างไอซ์แลนด์ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน แต่ความเย็นก็เป็นสิ่งท้าทายสำหรับหลายคน โดยอุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนจะอยู่ที่ประมาณ 16 องศาเซลเซียส
อัธยา เป็นผู้หญิงที่มั่นใจในตนเองและยิ้มได้เสมอ ปัจจุบันเธอทำงานในร้านอาหารที่กรุงทอร์สเฮาน์ และอาศัยอยู่กับสามีในบ้านหลังเล็ก ๆ ริมฟยอร์ด ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา แต่เธอก็ยินดีเล่าถึงประสบการณ์ ตอนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ ๆ ว่า 'ตอนที่ยาค็อบ ลูกชายยังเป็นทารก ฉันอยู่บ้านคนเดียวทั้งวันไม่ได้พูดกับใครเลย ชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่อายุมากกว่า ส่วนมากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คนรุ่นเดียวกันก็ไปทำงานกันหมด และไม่มีเด็กที่จะมาเป็นเพื่อนเล่นกับยาค็อบ ตอนนั้นฉันเครียด แต่ก็รู้ว่าคงเป็นแบบนั้นประมาณ 2-3 ปี'
พอยาค็อบ เริ่มไปโรงเรียนอนุบาล อัธยา ได้ไปทำงานธุรกิจจัดเลี้ยงอาหาร และได้พบกับหญิงไทยคนอื่น ๆ 'นั่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับฉัน เพราะช่วยให้มีเครือข่าย และได้สัมผัสกลิ่นอายของบ้านเกิดอีกครั้ง'
ครองรัก ย็อกลาดัล เป็นอีกคนที่กล่าวว่า เธอรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อตอนย้ายมาจากประเทศไทยเช่นกัน โดยโทรนดูร์ สามีของเธอเป็นกะลาสีเรือ และต้องจากบ้านไปทำงานครั้งละหลายเดือน
เธอเปิดกิจการร้านนวดไทยของตัวเอง ในย่านใจกลางกรุงทอร์สเฮาน์ โดยนี่เป็นงานที่แตกต่างจากตอนที่เธอเคยเป็นหัวหน้าแผนกบัญชีของหน่วยราชการท้องถิ่นในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การที่ครองรัก ได้เป็นเจ้าของธุรกิจเอง ทำให้เธอไม่เหมือนผู้หญิงเชื้อสายเอเชียทั่วไปในหมู่เกาะแฟโร เนื่องจากส่วนมาก แม้จะมีการศึกษาสูง แต่ข้อจำกัดด้านภาษา ทำให้ต้องหันไปทำงานที่รายได้ต่ำกว่า
นายกรัฐมนตรีแอ็กเซล โยฮานเนเซ่น กล่าวว่า ทางรัฐบาลพยายามให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติอย่างจริงจัง โดยกล่าวว่า 'ผู้หญิงชาวเอเชีย ที่เข้ามาอยู่ในหมู่เกาะมีส่วนกระตุ้นตลาดการจ้างงานมาก ซึ่งเป็นเรื่องดี และหนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือช่วยให้พวกเขาเรียนภาษาแฟโร และทางรัฐบาลได้จัดโครงการสอนภาษาให้ฟรีด้วย'
คริสเตียน อาร์นาสัน เล่าถึงความทรงจำที่บุญล้อม ภรรยาชาวไทยของเขาพยายาม เรียนภาษาแฟโร ตอนย้ายมาอยู่เมื่อปี 2002 ว่า 'หลังกลับจากทำงานมาทั้งวัน เธอจะนั่งท่องพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-แฟโร ซึ่งเธอเป็นคนทุ่มเทมาก'
ด้านบุญล้อมกล่าวว่า 'ฉันโชคดี' และ 'ฉันบอกคริสเตียนว่า หากย้ายมาอยู่ที่นี่ เขาต้องหางานให้ฉัน ซึ่งเขาก็ทำตามสัญญา ให้ฉันได้ทำงานกับชาวแฟโรในโรงแรม และต้องฝึกพูดกับพวกเขาให้ได้'
ในช่วงเวลาที่เรื่องการอพยพเข้าเมือง ได้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวในหลายส่วนของยุโรป สังคมของชาวหมู่เกาะแฟโร ดูเหมือนจะให้การยอมรับคนต่างชาติอย่างน่าประทับใจ
แม็กนี อาร์จ นักการเมืองท้องถิ่น สมาชิกรัฐสภาเดนมาร์ก กล่าวว่า 'ฉันคิดว่า การมีผู้อพยพเข้าเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงมีข้อดี เพราะพวกเธอมาทำงานและไม่ก่อปัญหาทางสังคมแต่อย่างใด' แต่ในทางกลับกัน 'เราพบปัญหาจากคนต่างวัฒนธรรม ในสหราชอาณาจักร สวีเดน และส่วนอื่น ๆ ของยุโรป แม้กระทั่งในเดนมาร์ก ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องพยายามดูแล ไม่ให้เกิดการโดดเดี่ยวคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนนำไปสู่การพัฒนาวัฒนธรรมที่ต่อต้านคนกลุ่มใหญ่'
ด้านแองโตเน็ตต์ เอ็กโฮล์ม ซึ่งมาจากฟิลิปปินส์ ก็กล่าวว่า เธอไม่เคยพบว่าชาวแฟโรจะต่อต้านคนเข้าเมืองเลย 'คนที่นี่เป็นมิตร ฉันไม่เคยมีประสบการณ์ในแง่ลบ ต่อการที่ฉันเป็นชาวต่างชาติ ฉันเคยอยู่ที่กรุงมะนิลา และคนที่นั่นต้องกังวลกับปัญหาการจราจร มลพิษ รวมถึงอาชญากรรม แต่ที่นี่เราไม่ต้องห่วงเรื่องลืมล็อกประตูบ้านด้วยซ้ำ ส่วนบริการสุขภาพและการศึกษาก็ฟรี และยังมีแง่มุมที่คล้ายกับฟิลิปปินส์ คือ คนที่นี่ไม่ยึดติดกับมารยาทแบบทางการ ทำให้จะไปหาใครที่บ้านโดยไม่ต้องนัดก็ได้'
ด้านเรกิน สามีของเธอเห็นด้วยว่า ความหลากหลายทางเชื้อชาติที่กำลังเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่น่ายินดี มากกว่าที่จะต้องกลัว 'เราต้องการคนรุ่นใหม่หลากหลายเชื้อสาย เพราะเรามีกลุ่มยีนส์จำกัดมาก การเปิดรับคนนอกที่ต้องการสร้างครอบครัวเป็นสิ่งดี' และแม้จะเคยถูกเพื่อนล้อเลียนว่า ใช้วิธีกดปุ่มเอ็นเทอร์บนคอมพิวเตอร์ เพื่อสั่งภรรยาออนไลน์มาหรือไม่ แต่เขาปฏิเสธว่า ทั้งคู่ไม่เคยต้องเผชิญกับอคติต่อการเป็นคู่สามีภรรยาต่างเชื้อชาติเลย
ส่วน อัธยา สเลทาลิด อธิบายสาเหตุที่เธอไม่คิดจะย้ายไปอยู่ในกรุงทอร์สเฮาน์ ซึ่งมีประชากรประมาณร้อยละ 40 ของหมู่เกาะแฟโร และยาค็อบจะได้มีเพื่อนมากขึ้นว่า 'ฉันไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น ตอนนี้ฉันมีความสุขกับที่นี่แล้ว มันไม่ใช่แค่การอยู่รอดแต่เป็นการสร้างชีวิตครอบครัว' เธอพูดพร้อมกับก้าวออกไปที่สนามหญ้า ที่มีวิวฟยอร์ด ว่า 'ยาค็อบ ได้เล่นริมทะเล ห้อมล้อมไปด้วยเนินเขา ที่เต็มไปด้วยฝูงแกะ และได้สัมผัสกับธรรมชาติ ส่วนคุณปู่และคุณย่าก็อยู่ไม่ไกลกัน ที่นี่ไม่มีมลภาวะ ไม่มีอาชญากรรม ทุกวันนี้มีเด็กจำนวนไม่มากที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ที่นี่อาจจะเป็นสวรรค์แห่งสุดท้ายบนโลกก็ได้'
ชอบมากค่ะ ที่แชร์ประสบการณ์ให้ได้อ่าน อยากไปอยู่ที่เกาะแฟโรเลยค่ะ
ตอบลบชอบมากธรรมชาติลมหนาวผู้คนคงไม่แออัดน่าอยุ่มากคะ
ตอบลบ